โรคความดันโลหิตสูง คืออะไร อาการ สาเหตุ และวิธีการรักษาความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) สำหรับความดันสูงเป็นหนึ่งในโรคที่คนไทยในสมัยปัจจุบันนี้กำลังเป็นกันมาก ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็เป็นโดยไม่รู้ตัว ว่าตัวเองกำลังเป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งถ้าหากผู้เป็นปล่อยให้ตัวเองเป็นโรคความดันโลหิตสูงกันไปนานๆแล้วล่ะก็

อาจจะทำให้กลายเป็นตัวนำพามาซึ่งโรคภัยร้ายอื่นๆที่จะคอยตามมาอีกมากมาย และสำหรับในวันนี้ ทางเพจก็ได้มีข้อมูลดีๆ เอามาฝากเพื่อนๆเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูง หรือความดันสูง เพื่อให้เป็นความรู้กันนะค่ะ — โรคความดันโลหิตสูง

อย่างไรจึงเรียกว่า โรคความดันโลหิตสูง

โดยปกติแล้วทุกคนจะมีความดันโลหิตที่จะคอยผลักดันเลือด ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งอัตราปกติที่หัวใจของคนเราจะเต้นอยู่ประมาณ 60-80 ครั้ง ต่อนาที ซึ่งความดันก็จะเพิ่มขึ้นขณะที่หัวใจบีบตัว

และลดลงในขณะที่หัวใจคลายตัว ทั้งนี้โดยปกติคนจะมีระดับความดันโลหิตอยู่ที่ 120/80 – 139/89 มิลลิเมตรปรอท แต่องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดไว้ว่า หากใครมีความดันโลหิตสูงเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท ให้ถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง

อย่างไรก็ตาม ความดันโลหิตของคนจะไม่เท่ากันตลอดเวลา เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาพแวดล้อม ท่าทาง อากัปกิริยา เช่น หากมีการวัดความดันโลหิตในท่านอน ก็จะมีค่าสูงกว่าท่ายืน รวมทั้งช่วงเวลาระหว่างวัน จิตใจ อารมณ์ ความเครียด อายุ เพศ ฯลฯ นั้นต่างก็เป็นสาเหตุทำให้ระดับความดันเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

ทั้งนี้ โรคความดันโลหิตสูง จะเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในปัจจุบัน แต่คนกว่า 70% มักจะไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้ ทำให้ไม่ได้รับการรักษาหรือการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเหมาะสม แต่เมื่อเริ่มมีอาการที่แสดงแล้ว จึงจะเริ่มใส่ใจรักษา ซึ่งบางครั้งก็อาจไม่ทันท่วงทีได้

ความดันสูง

โรคความดันโลหิตสูง นำไปสู่โรคร้ายอะไร

ผู้ที่เป็นโรค ความดันสูง จะมีความดันโลหิตเลี้ยงไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ไม่สม่ำเสมอ อันซึ่งจะนำมาสู่การเกิดโรคต่าง ๆที่ตามมา เช่น โรคหลอดเลือดในสมองตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจ โรคไตวาย เส้นเลือดแดงใหญ่โป่งพอง อัมพาต อัมพฤกษ์ ฯลฯ โดยอาจจะทำให้เสียชีวิตโดยเฉียบพลันได้

ระดับความรุนแรงของ โรคความดันโลหิตสูง

ความรุนแรงของ โรคความดันโลหิตสูง จะสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ  คือ
ระดับที่ 1 ความดันโลหิตสูงระยะเริ่มแรก ค่าความดันโลหิตระหว่าง 140-159/90-99 มม.ปรอท
ระดับที่ 2 ความดันโลหิตสูงระยะปานกลาง ค่าความดันโลหิตระหว่าง 160-179/100-109 มม.ปรอท
ระดับที่ 3 ความดันโลหิตสูงระยะรุนแรง ค่าความดันโลหิตมากกว่า 180/110 มม.ปรอท

ทั้งนี้ ในการวัดความดันโลหิตควรจะวัดขณะนอนพัก และควรจะมีการวัดซ้ำอีก 2-3 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นความดันโลหิตสูงจริง ๆ

สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง

สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง

สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง สาเหตุของการเป็นโรคความดันโลหิตสูงนั้นยังจะไม่ทราบอย่างแน่ชัด แต่ในส่วนใหญ่ จะพบโรคความดันโลหิตสูงในกลุ่มคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไปแล้ว

และผู้ที่มีอาการป่วยบางประเภท เช่น อาการป่วยเกี่ยวกับสมอง ต่อมหมวกไต และต่อมไร้ท่อบางประเภท รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังอื่น ๆ ที่ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เช่น โรคโลหิตจางอย่างรุนแรง เบาหวาน เป็นต้น

อาการของโรคความดันโลหิตสูง

อาการของผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูง

อาการของโรคความดันโลหิตสูง ปกติแล้วผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมักไม่ปรากฎอาการใด ๆ ให้ทราบอย่างชัดเจน แต่อาจพบอาการปวดศีรษะ มึนงง เวียนศีรษะ เหนื่อยง่ายผิดปกติ อาจมีอาการแน่นหน้าอก

หรือนอนไม่หลับ หรือสูญเสียความจำ สับสน มึนงง ซึ่งนั่นล้วนเป็นอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ อันเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไม่เอะใจ จึงไม่ได้ทำการรักษา และควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับเหมาะสม  ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องแล้ว อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาได้

โรคความดันโลหิตสูง

ภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ 2 กรณีคือ

1. ภาวะแทรกซ้อนจากโรคความดันโลหิตสูงโดยตรง คือ
– ภาวะหัวใจวาย อันที่เกิดจากหัวใจทำงานหนักขึ้น ทำให้ผนังหัวใจหนาตัว เกิดหัวใจโต และหัวใจวายตามมา
– หลอดเลือดในสมองแตก หรือตีบตัน

2. ภาวะแทรกซ้อนจากหลอดเลือดแดง ตีบหรือตัน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือเรื้อรัง ซึ่งจะส่งผล ให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมทั้งหลอดเลือดสมองตีบ เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ไตวายเรื้อรังจากการที่เลือดไปเลี้ยงไต

ไม่เพียงพอได้ รวมทั้งอาการตาบอด ที่เมื่อเป็นโรคความดันโลหิตสูงอาจทำให้หลอดเลือดแดงในตาค่อย ๆ เสื่อมลง จนอาจมีเลือดออกที่จอตา ทำให้ประสาทตาเสื่อมจนตาบอดได้

ทั้งนี้ มีข้อมูลทางการแพทย์ระบุว่า ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง หากไม่ได้การรักษาแล้ว อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวาย 60-75%, เสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองอุดตัน หรือแตกราว 20-30% และเสียชีวิตจากไตวายเรื้อรัง 5-10%  เลยทีเดียวค่ะ

ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง

– พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม จะพบว่า คนประมาณ 30-40% ที่มีบิดา-มารดา เป็นโรคความดันโลหิตสูง มักจะมีแนวโน้มเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้มากกว่า คนที่ไม่มีประวัติเกิดขึ้นเลยในครอบครัว

– ความเครียด หากคนมีความเครียดสูง อาจทำให้ความดันโลหิตสูงตามไปด้วย

– อายุ โดยปกติเมื่ออายุมากขึ้น ความดันโลหิตจะสูงขึ้นตามไปด้วย และสำหรับโรคความดันโลหิตสูงแล้ว โดยส่วนมากมักจะพบในผู้ที่มีอายุอายุ 40-50 ปีขึ้นไป แต่ในอายุต่ำกว่านี้ก็สามารถพบได้เช่นกัน

– เพศ โดยโรคความดันโลหิตสูงนี้ส่วนมากมักจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะพบในหญิงหลังวัยหมดประจำเดือน

– รูปร่าง มักจะพบโรคความดันโลหิตสูงนี้ ในผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือคนอ้วนมากกว่าคนผอม

– เชื้อชาติ โดยมักพบโรคความดันโลหิตสูงนี้ในคนอเมริกัน เชื้อสายแอฟริกา หรือกลุ่มผิวสีนั่นเอง

– พฤติกรรมการกินสำหรับผู้ที่ชอบทานเค็ม ทานเกลือ มักจะมีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าคนปกติ

– สภาพภูมิศาสตร์  ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองมักมีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงนี้  มากกว่าผู้ที่อยู่อาศัยในชนบท  เป็นเพราะจะมีความเครียด และสภาพแวดล้อมที่วุ่นวาย รบกวนจิตใจอารมณ์มากกว่านั่นเอง

การรักษาโรคความดันโลหิตสูง

การรักษาโรคความดันโลหิตสูง

การรักษาโรคความดันโลหิตสูง สามารถทำได้ 2 ทางคือ การใช้ยา และไม่ใช้ยา โดยในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่เริ่มรู้ตัวว่าเป็นโรคแล้ว  แพทย์จะสามารถรักษาโรคความดันโลหิตสูงได้

โดยการป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อน  แต่สำหรับผู้ที่มีโรคแทรกซ้อนร่วมด้วย  แพทย์จะต้องให้ยา และพยายามควบคุมระดับความดันให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ

การป้องกัน และข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ที่เป็น โรคความดันโลหิตสูง

– ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรได้รับการตรวจวัดความดันโลหิตสูงอย่าง สม่ำเสมอ

– หลีกเลี่ยงอาหารเค็มจัด  เพราะเกลือจะทำให้ความตึงตัวของผนังหลอดโลหิตแดงเพิ่มขึ้นด้วย

– หลีกเลี่ยงอาหารกลุ่มไขมันจากสัตว์ เช่น กะทิ เนื้อสัตว์ รวมทั้งอาหารกลุ่มแป้งและน้ำตาลขัดขาวทุกชนิด  เพราะจะทำให้น้ำหนักตัว  และระดับไขมันในเลือดเพิ่มขึ้น

– งดสูบบุหรี่ และงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  แต่อาจดื่มได้ในปริมาณพอเหมาะ คือ วิสกี้ 2 ออนซ์ หรือ ไวน์ 8 ออนซ์ ค่ะ

– พยายามควบคุมน้ำหนักตัว  ไม่ให้อ้วนมากเกินไป  เพราะความอ้วนก็เป็นปัจจัยเสี่ยงอันจะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้

– ออกกำลังกายให้พอควรและอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการเดินเร็ว ๆ วิ่งเหยาะ ๆ หรือปั่นจักรยาน ประมาณ 15-20 นาที อย่างน้อย 3-6 ครั้งต่อสัปดาห์

– พักผ่อนให้เพียงพอ

– ทำจิตใจให้เบิกบาน ไม่เครียด

เคล็ดลับวิธีลดความดันโลหิตสูง

นอกจากการรักษาและป้องกันแล้ว เราก็สามารถจะลดระดับความดันโลหิตได้  ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

– ลดปริมาณเกลือ ด้วยการหันกลับมาทานอาหารที่มีธาตุโพแทสเซียม และแมกนีเซียม  ซึ่งจะมีมากในผักและผลไม้สด อย่าง กล้วย มันฝรั่ง และผักใบเขียวต่าง ๆ

– ดื่มน้ำสมุนไพร เช่น ขึ้นฉ่าย กระเจี๊ยบแดง และบัวบก

– ผ่อนคลายความเครียดด้วยการฟังเพลงเป็นต้น

– ใช้น้ำมันหอมระเหยกลิ่นต่าง ๆ เพื่อช่วยผ่อนคลายอารมณ์และความเครียด

– ควรนั่งสมาธิวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 20 นาที จะช่วยรักษาระดับความดันโลหิตได้

จะเห็นแล้วว่าสิ่งที่จะช่วยป้องกันความดันโลหิตสูงได้ก็คือ ควรเลี่ยงการกินเค็ม งดปัจจัยเสี่ยงทั้งหลาย และพยายามอย่าเครียด เพราะหากป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงขึ้นมาแล้ว อาจส่งผลให้เกิดโรคร้ายแรงอื่น ๆ ตามมาได้หลายโรค เช่น โรคหลอดเลือดสมองที่ปัจจุบันมีคนป่วยจำนวนไม่น้อยเลย

เมื่อเราได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงกันไปทั้งหมดแล้ว เพื่อนๆก็อย่าลืมหันมาดูแลเอาใจใส่กับสุขภาพร่างกายกันให้มากขึ้นนะค่ะ เมื่อร่างกายและสุขภาพแข็งแรงจะทำให้ชีวิตมีความสุข

เราขอแนะนำให้เริ่มจากการรับประทานผัก ผลไม้ อาหารที่ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย พร้อมกับการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อหนึ่งวัน ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่ปฎิบัติกันได้ง่ายๆ และเป็นสิ่งที่ดีที่สุดกับสุขภาพอีกด้วย สำหรับในวันนี้ขอตัวลาไปก่อน สวัสดีค่ะ